มหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 8 “การวิจัยสู่ประชาคมอาเซียน”

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 ณ ห้องประชุมตักสิลาบอลรูม 1 โรงแรมตักสิลา จังหวัดมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ จัดการประชุมทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 8 ภายใต้ชื่อ “การวิจัยสู่ประชาคมอาเซียน : Research for asean community” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเตรียมวิจัยสู่ประชาคมอาเซียน” ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก Prof. Serge Morand นักวิจัยชาวฝรั่งเศส ที่ดำเนินการด้านงานวิจัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การวิจัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ศาสตราจารย์ ดร. ปรีชา ประเทพา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 8 จัดขึ้นเพื่อให้ความสำคัญของการวิจัยและการเผยแพร่ผลงานวิจัย ของอาจารย์ นักวิจัยและนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักวิชาการจากหน่วยงานทั่วประเทศ ที่สนใจจะนำเสนอผลงานทางวิชาการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากงานวิจัย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางวิชาการใหม่ๆ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเพื่อสร้างเครือข่ายการวิจัยของบุคลากรทั้งภายในสถาบันและระหว่างสถาบัน

สำหรับรูปแบบการนำเสนอผลงานวิจัยแบ่งกลุ่มตามสาขาวิชาการเป็น 7 กลุ่มได้แก่ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มวิทยาการสารสนเทศ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มการบัญชีและการจัดการ กลุ่มศึกษาศาสตร์ และกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีจำนวนผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมครั้งนี้ทั้งหมด 100 เรื่อง จำแนกเป็นการนำเสนอภาคบรรยาย 52 เรื่อง และภาคโปสเตอร์ 48 เรื่อง โดยมีการประกวดผลงานทางวิชาการดีเด่น และผลงานภาคโปสเตอร์

นอกจากนี้ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 มีเวทีนำเสนอผลงานการดำเนินงาน โครงการบริการวิชาการแก่สังคมและโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งจำนวนผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมครั้งนี้ มีทั้งหมด 59 เรื่อง จำแนก การนำเสนอภาคบรรยาย 12 เรื่อง และภาคโปสเตอร์ 47 เรื่อง และจัดนิทรรศการ 7 หน่วยงาน

รางวัลนำเสนอภาคบรรยายดีเด่น
1. สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ ฉกาจ เพ็งศรีโคตร เรื่อง การปรับปรุงคุณภาพของมวลร่วมละเอียดด้วยเศษเซรามิค
2. สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ กิตติ ต้นเมืองปัก เรื่อง ความหลากหลายของหอยทากบกในเขตวนอุทยานภูผาล้อม อำเภอเมือง จังหวัดเลย
3. สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แก่ ดวงเด่น นาคสีหราช เรื่อง มาตรการทางกฏหมายสำหรับการป้องกันและควบคุมมลพิษน้ำมันจากการชนกันในทะเล
4. สาขาศึกษาศาสตร์ ได้แก่ ธันยพร ป้องกัน เรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความทะเยอทะยาน(Ambition) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
5. สาขาศึกษาศาสตร์ ได้แก่ สุนทร ใจภักดี เรื่อง การพัฒนาโมเดลสาเหตุของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการคิดขั้นสูงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จังหวัดศรีษะเกษ
6. สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาการสารสนเทศ ได้แก่ นวัฒกร โพธิสาร เรื่อง การทดสอบประสิทธิภาพเทคนิคการจับการเคลื่อนไหวด้วยอุปกรณ์ไมโครซอฟต์ไคนิกส์ กรณีศึกษาท่ามวยไทย
7. บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ กฤษณุ ผโลปกรณ์ เรื่อง โครงการส่งเสริมอัตลักษณ์ของเมืองด้วยอุปกรณ์ประกอบถนน เทศบาลเมือง จังหวัดมหาสารคาม

รางวัลนำเสนอภาคโปสเตอร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ดีเด่น ได้แก่ จิรศักดิ์ คงเกียรติขจร เรื่อง คุณสมบัติของกลูโคสอะไมเลส จาก Sacchharomycopsis sp. (แซคคาโรไมคอปซิส)
- ชมเชย ได้แก่ สิรินภา สาสนาม เรื่อง การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และคุณสมบัติด้านความหนืดของเมล็ดถั่วพุ่ม (Vigna unguiculata) วิกน่า อันกุยซุราต้า สีต่างๆ และถั่วแดงหลวง (Phaseolus valgaris)ฟาซีโอรัส วัลการิส
- ชมเชย ได้แก่ สุรพล ยอดศิริ เรื่อง ความหลากหลายชนิดของปลาน้ำจืดในแม่น้ำชีตอนกลาง บริเวณเหนือเขื่อนวังยาง พื้นที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์

รางวัลนำเสนอภาคโปสเตอร์ กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
- ดีเด่น ได้แก่ ไพบูลย์ โพธิ์หวังประสิทธิ์ เรื่อง การผลิตซ้ำอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ภายในครอบครัวเชื้อสายจีนแต้จิ๋วในประเทศไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีเพลงกล่อมเด็ก
- ชมเชย ได้แก่ เทพอมร ประยูรชาญ เรื่อง การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง มหาสารคาม
- ชมเชย ได้แก่ สันชัย หาญสูงเนิน เรื่อง การพัฒนากิจกรรม การเรียนการสอนแบบบูรณาการโดยใช้เทคนิคเพื่อนช่วยเพื่อน ร่วมกับวิธี 4MAT (โฟร์ แมท) และแผนที่ความคิดในรายวิชาการประยุกต์ไมโครคอมพิวเตอร์ในทางฟิสิกส์

รางวัลนำเสนอภาคโปสเตอร์ กลุ่มบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
- ดีเด่น ได้แก่ สุรเวช สุธีธร , พลอยพรรณ จิตราช และคณะ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา โครงการ การพัฒนาศักยภาพ ยุวมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เพื่อการท่องเที่ยวเชิงบรรพชีวินวิทยา
- ชมเชย ได้แก่ นวลละออง อรรถรังสรรค์ และคณะ คณะการบัญชีและการจัดการ โครงการ การริหารจัดการธนาคารข้าวเพื่อชุมชนบ้านหินปูน ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
- ชมเชย ได้แก่ ศิริลักษณ์ วงษ์เกษม ,เกียรติสิน การญจวนิชกุล และคณะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โครงการ การให้ความรู้และการถ่ายทอดเทคนิคการสร้างอาคารดินพลังงานแสงอาทิตย์ตามแนวพระราชดำริการใช้พลังงานทดแทน

รางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์
- ชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียน อนุกูลนารี
- รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนพิมายวิทยา
- รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร
- รางวัลชมเชย ได้แก่ โรงเรียนวาปีปทุม และโรงเรียนบรบือวิทยาคาร

 

<< back wilawan.6te.net

Free Web Hosting